ประเภท ลักษณะ ที่มา โทษ ภูมิคุ้มกัน แหล่งรักษา กฎหมาย หน้าแรก
ลักษณะยาเสพติดแต่ละชนิด
1. เฮโรอีน
1.เฮโรอีนบริสุทธิ์  ลักษณะเป็นผงสีขาว  ไม่มีกลิ่น  รสขมจัด  มีเนื้อเฮโรอีนประมาณ 90 - 95 เปอร์เซ็นต์  นิยมเรียก "ผงขาว"
 2. เฮโรอีนผสม ลักษณะเป็นเกล็ด  ไม่มีกลิ่น  มีหลากสีต่างๆ   มีเนื้อเฮโรอีนประมาณ 5 - 20 เปอร์เซ็นต์  เป็นสารเฮโรอีนไม่บริสุทธิ์ เพราะมีสารพิษเป็นส่วนผสมอยู่  นิยมเรียกกันทั่วไปว่า  "แค็ปไอระเหย" นิยมเสพโดยวิธีการสูดไอระเหย

2. ฝิ่น
       ฝิ่น  เป็นพืชล้มลุก  เนื้อฝิ่นได้มาจากยางที่กรีดมาจากผล  มีสีน้ำตาลกลิ่นเหม็นเขียว  รสขม  เรียกว่า "ฝิ่นดิบ"  หากนำมาต้ม  เคี่ยว  หรือ  หมัก  จะมีสีน้ำตาลไหม้ปนดำ  มีรสขม  เรียกว่า  "ฝิ่นสุก"  ฝิ่นจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2   เสพโดยการสูบด้วยกล้อง  หรืออาจเสพโดยรับประทานในรูปของฝิ่นก้อน 3. มอร์ฟีน  เป็นสารสกัดมาจากฝิ่นเช่นเดียวกับเฮโรอีน
มอร์ฟีน เป็นผงสีขาวหรือเทาเกือบขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีฤทธิ์สูงกว่าฝิ่นประมาณ 8-10 เท่า เสพติดได้ง่าย มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นก้อน หรือละลายบรรจุหลอดสำหรับฉีด นำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีฉีดเป็นส่วนมาก มอร์ฟีนมีลักษณะ 2 รูป คือ รูปอิสระ (Free) และรูปเกลือ (Salt) สำหรับมอร์ฟีนที่มีลักษณะเป็นรูปของเกลือ ได้แก่ ซัลเฟท (Sulfate) ไฮโดรคลอไรด์ (Hydrochloride) อาซิเตท (Acetate) และทาร์เตรท (Tratrate) มอร์ฟีนรูปเกลือที่นิยมทำมาก คือ ซัลเฟท

4. กัญชา
กัญชาเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่นิยมนำมาเสพ คือก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน 
ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบนอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้วยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) ซึ่งทำจากเกษรของดอกกัญชามีลักษณะเป็นผงละเอียดและ มีส่วนที่เป็นยางเหนียวมากกว่ากัญชาชนิดอื่น เป็นต้น

5. เหล้าแห้ง
 เป็นอนุพันธ์หนึ่งของยากดประสาทมีชื่ออื่นๆ ว่า เซโคนาลปีศาจแดง ยานี้มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้เกิดอาการมึนงง มึนเมา การใช้นานๆ ทำให้ประสาทเสื่อม ประสาทหลอนขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำให้เกิดความบ้าบิ่น ใจคอหงุดหงิด  ก้าวร้าวรุนแรง  และมีความโน้มเอียงที่จะทำร้ายตนเอง เช่น ใช้มีกรีดแขน คอ จนถึงฆ่าตัวตายได้

6. สุรา
เป็นของเหลว ไม่มีสี   ในสุราจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (ETHYL ALCOHOL) ผสมอยู่ในปริมาณไม่เกิน 60 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่คนสามารถใช้ดื่มได้ (เป็นเกณฑ์กำหนดของสากลทั่วไป   มีสีต่างๆ  บรรจุใส่ภาชนะ ขวด  รูปทรงต่าง  ๆ  แต่งสีกลิ่น เพื่อล่อใจผู้ซื้อ

7. บุหรี่ 
 เป็นพืชชนิดหนึ่ง  ที่นำใบมาตาก หรือ อบแห้ง เรียกว่าใบยาสูบ แล้วนำมาหั่น เป็นเส้นแล้วมวนด้วยกระดาษบรรจุกล่องสวยงามล่อใจ
ในบุหรี่มีสารที่สำคัญตัวหนึ่งมีชื่อว่า  นิโคติน  ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุด  ในบรรดาสารทั้งหลายที่อยู่ในควันบุหรี่ เป็นสารอัลคาลอยด์ที่ไม่มีสี  แต่มีพิษมาก ออกฤทธิ์ได้ทั้งเป็นตัวกระตุ้น กดและกล่อมประสาทส่วนกลางของสมองเรา เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่ 
 นิโคตินเพียงแค่  30  มิลลิกรัม  ก็สามารถทำให้คนตายได้ ในขณะทีสูบบุหรี่ธรรมดามวนหนึ่ง มีนิโคตินอยู่ราว  15-20  มิลลิกรัม  นั่นก็คือ  จำนวนนิโคตินในบุหรี่ 2 มวน จะทำให้คนตายได้ทันที่แต่การที่คนสูบบุหรี่ติดต่อกันหลายมวนแล้วไม่ตาย  ก็เพราะว่ามีนิโคตินในควันบุหรี่เป็นส่วนน้อยที่เข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ
 นิโคตินจะไปออกฤทธิ์ทั้งที่สมองส่วนกลาง  ระบบหัวใจ  หลอดเลือด และที่ระบบการหายใจ 

7. ยาบ้า
ยาบ้า  ยาม้า  หรือ  ยาขยัน  เป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก  มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท  ทำให้ผู้เสพรู้สึกตื่นตัวยาบ้ามีส่วนผสมของ แอมเฟตามีนมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว   ไม่มีกลิ่น  มีรสขมนิด ๆ   มีฤทธิ์เป็นกรด   นำมาผสม กับสิ่งเจือปนต่าง ๆ  ได้แก่  แป้ง  คาเฟอีน  สี  แล้วนำไปอัดเป็นเม็ด  น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ  0.11  กรัมต่อเม็ด  มีสีขาว  เหลือง  น้ำตาล  หลากสี  นอกจากนี้ยังมีชนิดผง  แคปซูล  และน้ำ

8. ยาอี  หรือยาเลิฟ หรือ  เอ๊กซ์ตาซี
ลักษณะของยาอี มีทั้งที่เป็นแคปซูล และเป็นเม็ดยาสีต่าง ๆ แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 - 12 ซ.ม. หนา 0.3 - 0.4 ซ.ม. ผิวเรียบ และปรากฏสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย, ค้างคาว, นก, ดวงอาทิตย์, P.T.ฯลฯ เสพโดยการรับประทานเป็นเม็ด จะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง

9. โคเคน
โคเคน หรือ โคคาอีน (Cocaine)   ชื่ออื่น ๆ     คือ  COKE , SNOW , SPEED BALL หรือ CRACK  โคเคนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โคเคนเบส (Cocaine base) และ เกลือโคเคน เช่น โคเคนไฮโดรคลอไรด์ (Cocaine hydrochloride) และโคเคนซัลเฟต (Cocaine sulfate)
โคเคนที่พบในประเทศไทย มี 2 ชนิด ได้แก่
1. โคเคนชนิดผง มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว รสขม ไม่มีกลิ่น
2. โคเคนรูปผลึกเป็นก้อน (Free base , crack)

10. กระท่อม
กระท่อมมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางมีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ส่วนของใบเป็นสิ่งเสพติด ลักษณะใบคล้ายใบกระดังงาหรือใบฝรั่งต้นหนาทึบ ต้นกระท่อมมี 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่มีก้านและเส้นใบ เป็นสีแดงเรื่อๆ
2. ชนิดที่ต้นสีเขียว ใบสีเขียว ดอกกลมโตเท่าผลพุทราไทยล้อมรอบด้วยเกสรสีแดงเรื่อๆ คล้ายดอกกระถิน มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น กระทุ่มโคก กระทุ่มพาย เป็นต้น
กระท่อมเป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่ง ส่วนมากพบในทวีปเอเชีย โดยฉพาะในประเทศอินเดียและในประเทศไทย กระท่อมไม่ขึ้นแพร่หลายทั่วไป จึงไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นกับชาวตะวันตก และอเมริกา ดังนั้น จึงไม่มีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ แต่เรียกชื่อทับศัพท์ตามภาษาไทยว่า Kratom

11. ยาเค
  มีลักษณะเป็นผงสีขาว ผลึก หรือ เป็นน้ำบรรจุอยู่ในขวดสีชา
ยาเค เป็นยาที่มีอันตรายสูงที่แพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงเท่านั้น ยาเคถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์โดย ใช้เป็นยาสลบมีชื่อเรียกในวงการแพทย์ว่า "KETAMINEHL" การนำไปใช้นั้นปกติแพทย์จะใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในอัตรา 1 ถึง 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้หมดสติภายในเวลา 1 นาที หรืออาจใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่วิธีนี้จะใช้ปริมาณยามากกว่าการฉีดเข้าเส้นเลือดประมาณ 3 เท่า อาการหมดสติจากการใช้ยาเคจะเป็นอยู่นานประมาณ 10 - 15 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณี ของการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ หรือใช้ทำให้ผู้ป่วยสลบก่อนที่จะผ่านไปสู่การใช้ยาสลบชนิดอื่น

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

จัดทำโดย...นายไชยา  เฉลียวพงษ์  อาจารย์ 1 โรงเรียนปากคาดพิทยาคม อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย